รีวิวขอวีซ่าเชงเก้นแบบละเอียด (ฉบับฟรีแลนซ์)
- FernniZ
- Jun 7, 2018
- 2 min read

คราวก่อนเฟิร์นบอกไว้ว่าจะกลับมาเขียนบล็อกถึงวิธีการเตรียมตัวยื่นขอวีซ่าเชงเก้น ฉบับคนที่ไม่มีงานประจำทำ (ฟรีแลนซ์) ให้อ่านกันเพื่อหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์กับคนที่ต้องการข้อมูล ซึ่งหายากมากกกกกนี้ เพราะเชื่อเถอะตอนที่วีซ่าไม่ผ่านครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภานี่เฟิร์นลำบากมากจริงๆ (ใครอยากรู้ว่าทำไมย้อนกลับไปอ่านบล็อกนี้ : https://goo.gl/6yYfvn)
ก่อนอื่นเลย เฟิร์นขอออกตัวก่อนว่าที่ผ่านมาเฟิร์นได้ทำการยื่นขอวีซ่าเชงเก้นที่สถานทูตเยอรมนีมาแล้ว 4 ครั้ง (รวมที่ไม่ผ่าน 1 ครั้ง) และทั้ง 4 ครั้งเป็นการขอวีซ่าเยี่ยมเยียนทั้งนั้น เนื่องจากว่าเฟิร์นเคยไปแลกเปลี่ยนที่เยอรมนีมาก่อน และทุกครั้งที่กลับไปก็จะไปพักกับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เคยไปอยู่ด้วย แต่เฟิร์นจะเขียนถึงการขอวีซ่าท่องเที่ยวด้วยเพราะมันมีเอกสารที่ต้องเตรียมต่างกันอยู่ไม่กี่ชิ้นเนอะ
สิ่งแรกที่ทุกคนต้องรู้…วีซ่าเชงเก้นคืออะไร
มันคือวีซ่าที่อนุญาตให้เราเดินทางไปประเทศใดก็ได้ในสหภาพยุโรป ย้ำ ในสหภาพยุโรป หลายคนเหมาเอาว่าได้วีซ่านี้แล้วจะไปประเทศอะไรในยุโรปก็ได้ แต่ผิดนาจา…สหภาพยุโรปคือ EU ซึ่งไม่เกี่ยวกับทวีป วีซ่าประเภทนี้ไม่อนุญาตให้คุณเข้าประเทศอย่างสหราชอาณาจักร (UK หรือก็คืออังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์และไอร์แลนด์เหนือ) รวมถึงบางประเทศได้ เฟิร์นแนะนำให้เช็กดีๆ ก่อนว่าจุดหมายปลายทางที่คุณจะไปในยุโรปนั้นต้องใช้วีซ่าอะไร
แล้วในเมื่อเข้าได้หลายประเทศ จะรู้ได้ยังไงว่าเราต้องไปขอวีซ่าที่สถานทูตอะไร…คำตอบก็คือ ถ้าหากคุณต้องการไปเยือนหลายประเทศ ให้เลือกประเทศที่อยู่นานที่สุด สมมติจะไปสามอาทิตย์ อยู่เยอรมนีสองอาทิตย์ ฝรั่งเศสอาทิตย์นึงและอิตาลีอาทิตย์นึง อันนี้ให้ไปขอวีซ่าที่สถานทูตเยอรมนีค่ะ (ไม่ใช่ฝรั่งเศส และไม่ใช่อิตาลี) แต่ถ้าหากไปหลายประเทศในจำนวนวันเท่าๆ กัน…ให้ไปขอวีซ่ากับสถานทูตที่เราจะไปเป็นประเทศแรก ถ้าแลนดิ้งที่เยอรมนีก็ขอวีซ่าที่สถานทูตเยอรมนี ถ้ากรีซก็ขอที่กรีซ อันนี้เคลียร์เนอะ
ถัดมา…วีซ่าเชงเก้นจะให้สิทธิ์คุณอยู่ในสหภาพยุโรปได้ไม่เกิน 90 วัน ถ้าหากนานกว่านั้นต้องขอวีซ่าประเภทพำนักระยะยาวกับสถานทูตของประเทศนั้นๆ ที่คุณจะไปอยู่ แต่โน๊ตไว้ด้วยว่า โดยส่วนใหญ่แล้วสำหรับวีซ่าท่องเที่ยวและเยี่ยมเยียนนั้นคุณจะได้วีซ่าตามจำนวนวันที่ขอเอาไว้เท่านั้น ถ้าขอไป 14 วันก็จะได้แค่ 14 วัน อาจบวกเพิ่ม 1-2 วัน แต่ไม่มีได้เป็น 6 เดือนเหมือนวีซ่าอังกฤษ หรือเป็นปีเหมือนวีซ่าอเมริกาแน่นอน
แล้วเราจะต้องขอวีซ่าประเภทไหนล่ะ เยี่ยมเยียนหรือท่องเที่ยว อันนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่เราจะไป อย่างเฟิร์นนั้นเคยไปแลกเปลี่ยนมาก่อน เวลากลับไปก็จะไปพักกับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เคยดูแลเฟิร์นตอนไปแลกเปลี่ยนดังนั้นวีซ่าที่เฟิร์นขอจึงเป็นวีซ่าเยี่ยมเยียน ข้อแตกต่างก็จะอยู่ที่การเตรียมเอกสารซึ่งเฟิร์นจะพูดถึงต่อไป
การจองคิวขอวีซ่านั้นสามารถทำได้โดยเข้าไปจองที่เว็บของสถานทูต ตอนนี้สถานทูตเยอรมนีปิดรับจองแบบโทรศัพท์ไปแล้ว แต่ยังมีสถานทูตบางประเทศในกลุ่มเชงเก้นที่ยังต้องจองแบบโทรศัพท์อยู่ ถ้ายังไงเช็กอีกทีเนอะ
ค่าธรรมเนียมวีซ่านั้นจะราคาเท่ากันคือ 60 ยูโร แล้วแต่อัตราแลกเปลี่ยนของตอนนั้น เมื่อ 3 ปีก่อนเฟิร์นไปตอนค่าเงินถูกราคาแค่ 2,100 เอง แต่ครั้งล่าสุดแพงขึ้นมาหน่อยเป็น 2,300 ส่วนเอกสารหลักๆ ที่ต้องเตรียมมีดังนี้…

1. พาสปอร์ต + สำเนาหน้าแรกของพาสปอร์ต โดยที่พาสปอร์ตต้องมีอายุการใช้งานเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน เอาเล่มเก่าไปด้วย (ถ้ามี) และถ่ายเอกสารวีซ่าเก่าๆ ที่เคยได้รับไปด้วยก็ได้ค่ะ เฟิร์นแนะนำว่าให้ถ่ายหน้าแรกพาสปอร์ตไว้สำรองติดตัวตอนเดินทางด้วยในกรณีที่เกิดพาสปอร์ตหายขึ้นมาเนอะ (รวมถึงวีซ่าด้วยหลังจากที่ได้รับมาแล้ว)
2. แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่า ซึ่งจะดาวน์โหลดได้จากเว็บของสถานทูตนั้นๆ กรอกให้ละเอียดนะคะ ถ้าใครกรอกไม่เป็นสถานทูตเขาจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ (แต่แน่นอนว่าเสียค่าธรรมเนียมจ้า)
3. เฉพาะวีซ่าเยี่ยมเยียน : จดหมายเชิญจากโฮสที่เยอรมนี เท่าที่เฟิร์นอ่านมา ถ้าหากเรามีญาติหรือเพื่อนที่ไปเรียนต่อที่นู่น เขาจะไม่สามารถเชิญเราได้นะคะ นอกจากจะทำงานอยู่ทางนู้นหรือเป็นคนเยอรมันเท่านั้น นี่คือเท่าที่อ่านมานะ ใครอยากแน่ใจลองโทรไปเช็กกับสถานทูตดูอีกที ในจดหมายควรระบุอะไรบ้าง…
ในกรณีที่คนเชิญไม่ได้เป็นสปอนเซอร์ คือไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้เรา แค่ให้ที่พัก ให้ระบุว่าขอเชิญใคร กรอกชื่อให้ถูกต้อง มาพักเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ และสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือลายเซ็น ต้องให้ทางนู้นปริ้นท์จดหมายออกมาเซ็นก่อนและสแกนส่งมานะคะ ครั้งแรกที่ขอไปเฟิร์นเจอจนท.ขอลายเซ็นมาแล้ว และอย่าลืมแนบสำเนาบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตของคนเชิญมาด้วยเด้อ
ในกรณีที่คนเชิญเป็นสปอนเซอร์ คือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ ฝ่ายนู้นจะต้องติดต่อไปที่สำนักตรวจคนเข้าเมือง (Auslaenderbehoerde) เพื่อนัดหมายทำ “หนังสือรับรองค่าใช้จ่ายอย่างเป็นทางการ” ต้องให้เขาโทรไปนัดนะคะ จู่ๆ เข้าไปเลยไม่ได้ (โฮสไปมาแล้ว) อันนี้เขาจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 29 ยูโร และยังต้องส่งเอกสารนี้ (ตัวจริง) มาที่ประเทศไทยเพื่อให้เราไปยื่นสถานทูตด้วย และต้องถ่ายเอกสารไปด้วยค่ะ สถานทูตจะดูตัวจริงแต่จะเก็บแค่ตัวถ่ายไว้
หมายเหตุ : ถ้ามี “หนังสือรับรองค่าใช้จ่ายอย่างเป็นทางการ” นี้ เราไม่จำเป็นต้องยื่นสเตทเมนท์แสดงรายรับรายจ่ายใดๆ เลยค่ะ
4. เฉพาะวีซ่าท่องเที่ยว : ตั๋วเครื่องบิน ใบจองโรงแรมและแพลนการท่องเที่ยว สามารถโทรไปให้เอเย่นต์ต่างๆ จองได้ก่อนค่ะ บอกเขาว่าจะเอาไปขอวีซ่า พอได้วีซ่าแล้วจะมาซื้อตั๋วเครื่องบินกับเขา เพราะถ้าซื้อไปก่อนแล้ววีซ่าไม่ผ่านก็จะวุ่นวายเนอะ ส่วนแพลนการท่องเที่ยวนั้นแนะนำให้อธิบายไปเป็นวันๆ ว่าวันนี้อยู่ที่เมืองไหน พักโรงแรมอะไร ถ้ามีตั๋วรถไฟหรืออะไรที่จองแล้วก็ยื่นไปให้หมดค่ะ สิ่งสำคัญคือต้องรู้แพลนนี้และตอบคำถามได้เมื่อเจ้าหน้าที่ถามว่าวันไหนจะทำอะไร
5. ใบรับรองการเป็นนักศึกษา / ใบรับรองการทำงาน ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่จะได้วีซ่าง่ายมากๆ ไปสำนักทะเบียนขอใบรับรองการเป็นนักศึกษา (ฉบับภาษาอังกฤษ) ไปยื่นก็จบแล้ว ถ้าใครทำงานแล้วก็ต้องให้บริษัทออกหนังสือมาว่าลางานไปวันไหน และจะกลับมาทำงานวันไหน
ใครที่เป็นฟรีแลนซ์อย่างเฟิร์น ถ้ามีธุรกิจอะไรเป็นของตัวเองก็ยื่นทะเบียนพาณิชย์ไปเลยค่ะ ส่วนใครที่ไม่มีอะไรไปยื่น เฟิร์นจะยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตัวเอง…เฟิร์นแต่งนิยายในเว็บเด็กดี ขายนิยาย ขายอีบุค เขียนบล็อคและมีเพจในเฟสบุคใช่ไหม เฟิร์นก็จะเอาสำเนาสัญญาแปลหนังสือไปยื่น ปริ้นหน้าเว็บของทุกเว็บ รวมไปถึงหน้าที่แจกแจงรายได้จากการขายนิยายและอีบุคของเว็บนั้นๆ เอาหน้าที่แสดงชื่อนิยาย แสดงโปรไฟล์อะไรก็ตามที่ระบุถึงตัวตนเราได้ ปริ้นท์ไปเลยค่ะ นึกซะว่าปริ้นท์ไปเยอะดีกว่าขาด อะไรไม่ใช้เจ้าหน้าที่เขาจะคืนให้เอง
Tips : ให้เขียนจดหมายแนะนำตัวและอธิบายงานไปด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่และให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น อย่างเฟิร์นก็เขียนระบุที่อยู่ตัวเอง วันที่ที่เขียน เลขพาสปอร์ต วันเกิด เขียนไปว่าชื่ออะไร จะไปทำอะไรที่เยอรมนี นานเท่าไหร่ และอธิบายงานที่ตัวเองทำอยู่ เฟิร์นเขียนไปเป็นภาษาเยอรมันยาวประมาณ 2 หน้า ถ้าใครไม่ได้ก็เขียนอังกฤษแบบสุภาพจ้า (ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นเยอรมัน)
6. สเตทเมนท์ : อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ถ้ามีหนังสือรับรองค่าใช้จ่ายอย่างเป็นทางการที่ส่งมาจากทางนู้น คุณไม่จำเป็นต้องยื่นสเตทเมนท์ เฟิร์นทำมาแล้วและผ่าน แต่จะยื่นไปด้วยเพื่อความชัวร์ก็ได้ แต่ถ้าไม่มีหนังสือ ก็แค่ไปอัพบุคแบงค์มา ไม่ต้องโทรไปขอสเตทเมนท์จากธนาคารให้เสีย 100 บาทก็ได้นะคะ แค่เอาสมุดบัญชีมาถ่ายเอกสารย้อนหลัง 3 เดือนเท่านั้นพออออ
แนะนำ : เมื่อก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เคยบอกว่าเราควรมีเงินในบัญชีอย่างน้อย 50 ยูโรต่อวันที่จะไป (คิดเป็นเงินไทยประมาณพันปลายๆ ถึงสองพันนิดๆ ตามอัตราแลกเปลี่ยน) แต่ครั้งล่าสุดโดนบอกว่าต้องมี 2,500 บาทต่อวัน งงมากเจ้าหน้าที่พูดไม่เหมือนกัน ใครอยากเอาเซฟๆ ก็คิดไป 2,500 บาทคูณจำนวนวันที่จะไปก็แล้วกันเนอะ
ทั้งนี้ทั้งนั้นเฟิร์นว่าขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่แต่ละคนด้วย เฟิร์นขอวีซ่าเยี่ยมเยียนทุกครั้งไม่เคยต้องใช้ใบรับรองค่าใช้จ่ายอย่างเป็นทางการเลยและผ่านมาตลอด (จนมาถึงครั้งล่าสุดที่กะเซฟไว้ก่อนเพราะไม่ได้ทำงานประจำ) แต่เพื่อนเฟิร์นที่เคยไปแลกเปลี่ยนมาเหมือนกันก็ไปขออย่างนี้แหละ และเจ้าหน้าที่บอกมาว่า “ยังไงก็ต้องใช้” จนต้องให้โฮสไปติดต่อและส่งมาให้ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเพื่อนยังเรียนอยู่และยื่นบัญชีของทางบ้านไป มีระบุว่าพ่อแม่เป็นสปอนเซอร์ให้ (เหมือนเฟิร์น) ในบัญชีมีเป็นล้านแต่เขาก็ยังจะเอาหนังสือรับรองค่าใช้จ่ายอยู่…ของอย่างนี้มันอยู่กับดวงแท้ๆ เลยน้อ
7. สำหรับมนุษย์ทำงาน : แนบสลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือนไปด้วยจ้า เฟิร์นเป็นฟรีแลนซ์ก็จะแนบเอกสารจ่ายเงินค่าอีบุคที่ทางธนาคารส่งมาให้ทุกเดือน ทำกี่จ็อบมีเอกสารอะไรยื่นไปปปปป
8. สำคัญมากสำหรับวีซ่าเชงเก้น : ประกันการเดินทางที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 30,000 ยูโร (1,500,000 บาท) ประกันนี้สามารถซื้อออนไลน์ได้นะคะ ราคาจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เราจะไป แนะนำให้ซื้อเผื่อตกเครื่องไรด้วยเนอะ บวกไป 2-3 วันก็ได้ ถ้าไปเดือนนึงจะอยู่ที่พันปลายๆ ถึงสองพันกว่าบาท อย่างเฟิร์นซื้อไป 78 วันก็สามพันกว่าบาท เฟิร์นใช้ของ Allianz นะคะ เมื่อก่อนใช้ของ Bupa หรือที่เปลี่ยนเป็น Aetna ตอนนี้ (ถูกกว่า Allianz อีก) แต่ไม่รู้ทำไม Aetna ชำระออนไลน์ไม่ได้ก็เลยเปลี่ยนมาใช้ Allianz แทน
9. รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 ใบที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน หน้าตรงนะคะ รูปสุภาพพื้นหลังสีขาว จะถ่ายร้านข้างนอกหรือไปถ่ายที่สถานทูตก็ได้ เขามีให้บริการในราคา 150 บาท (ได้รูป 4 ใบ) ถ้าใครถ่ายข้างนอกก็บอกร้านไปว่ามาถ่ายรูปทำวีซ่าเชงเก้น ร้านส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วค่ะ อย่างไรก็ตามแนะนำให้เช็กกับเว็บไซต์สถานทูตด้วยว่าต้องใช้แบบไหน ขนาดใดนาจา
10. เอกสารอื่นๆ : ในที่นี้หมายถึงเอกสารอะไรก็ได้ที่จะยืนยันว่าคุณจะกลับประเทศไทย เช่น ถ้าใครแต่งงานมีลูกแล้วก็ยื่นทะเบียนสมรส ใบเกิดลูก โฉนดที่ดิน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ยื่นไปปป ยิ่งมีพันธะจะยิ่งผ่านง่ายเพราะมันแปลว่าคุณต้องกลับมา
สำหรับเฟิร์นที่เคยไปแลกเปลี่ยน : เฟิร์นจะยื่นทะเบียนบ้านของตัวเอง บัตรนักเรียนตอนอยู่ที่นู่น ใบประกาศนียบัตรจากโครงการแลกเปลี่ยนที่ระบุว่าไปมาจริงๆ (มีวันที่และมีเมืองที่ไประบุ) บัตรต่างด้าวที่เคยได้ตอนอยู่นู่น วีซ่าเชงเก้นที่เคยได้ทั้งหมด ผลสอบวัดระดับภาษาเยอรมันเพื่อยืนยันว่าเราพูดได้ ผลสอบ IELTS แบบ Academic (ไม่รู้เหมือนกันว่าช่วยอะไร แต่คิดว่ามันให้เครดิตดี ฮ่าๆๆ) ใบจบจากมหาวิทยาลัยเพื่อยืนยันว่าฉันเรียนเอกเยอรมันมา
เอาง่ายๆ ว่า มีอะไรที่ระบุตัวตนเราได้ ยื่นไปเลย เฟิร์นถือคตินี้ตลอด “มีเยอะดีกว่าขาด” อะไรไม่ใช้เจ้าหน้าที่เขาคืนให้ค่ะ (แต่ที่เฟิร์นยื่นไปเขาก็ไม่คืนเลยนะ ผล IELTS ยังไม่คืนเลย)
สุดท้ายที่ต้องปริ้นท์แนบมาด้วยคืออีเมลยืนยันวัดนัดของเราค่ะ ถ้าไม่มีใบนี้เขาไม่ให้เข้านา…เอาปะหน้าไว้บนสุดค่ะ เอกสารนั้นเรียงตามข้างบนนี้ที่เฟิร์นเรียงมาให้เลย (สำหรับสถานทูตเยอรมนีนะ) อย่าลืมแปะรูป 1 ใบบนแบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าด้วย อีกใบให้เจ้าหน้าที่เพื่อไปติดในวีซ่าของเรา

ถ้าเอกสารครบจะไม่มีอะไรให้น่าเป็นห่วงเลยค่ะ ถ่ายสำเนาของเอกสารไปเผื่อด้วย อย่าลืมว่าเอกสารต้องแปลด้วยนะคะ เฟิร์นแปลสัญญาแปลนิยาย แต่สำเนาทะเบียนบ้านไม่ได้แปลนะ ใครจะแปลอะไรก็ไม่ต้องถึงขั้นไปจ้างร้านแปลอย่างเป็นทางการแพงๆ ก็ได้ค่ะ เฟิร์นใช้บริการนักแปลฟรีแลนซ์จากเว็บ Fastwork สองหน้าแค่เจ็ดร้อยเอง ถ้าไปแปลที่อื่นอาจเป็นพันๆ เลย ลองพิจารณาดูตามความสำคัญของเอกสารและกำลังเงินของเราค่ะ
วันไปยื่นเอกสารอย่าลืมว่าควรไปก่อนเวลานะคะ ปกติสถานทูตจะกำหนดให้ไปก่อนอย่างน้อย 15 นาที แต่เฟิร์นไปก่อน 45 นาทีเขาก็ให้เข้าเลยนะ ยื่นเสร็จก่อนเวลาที่นัดไว้อีก ใช้เวลาไม่นานถ้าเอกสารเราครบ คำถามเบสิกก็ประมาณนี้
จะไปทำอะไร ไปกี่วัน
เดินทางวันไหน กลับวันไหน
ไปไหนบ้าง
พักที่ไหน
รู้จักกับโฮสได้ยังไง คุยกันทางไหน เขาเคยมาไทยไหม
เคยถูกปฏิเสธวีซ่าหรือเปล่า (เฟิร์นเคยครั้งนึงก็ไม่มีปัญหาอะไรนะ)
ทำงานอะไรอยู่
ฯลฯ
ประมาณนี้นะคะ คาดว่าคำถามสำหรับวีซ่าท่องเที่ยวและเยียมเยียนคงไม่ต่างกันมาก เจ้าหน้าที่อาจดูดุๆ หน่อย เขาก็ทำงานของเขาเนอะ ต้องถามทั้งวัน ฮ่าๆ ตั้งสติให้ดีและอธิบายไปค่ะ อย่างที่บอกว่าเขียนจดหมายแนะนำตัว บอกจุดประสงค์ที่จะไปและอธิบายงานไปด้วยกันเหนียวก็ได้
ใครอยากรู้ว่าเฟิร์นเขียนอะไรไปในจดหมายอย่างละเอียดทักหลังไมค์มาได้ค่ะ หรือจะจ้างให้เขียนเป็นภาษาเยอรมันก็เอา ฮ่าๆๆ ขอรับจ็อบหาเงินไปเที่ยวแป๊บ
คุยกับเจ้าหน้าที่เสร็จแล้วเขาจะให้ไปจ่ายเงินค่าวีซ่า ถ้าใครจะให้ส่งไปรษณีย์ก็ออกไปซื้อซองไปรษณีย์แล้วกลับมายื่นให้เจ้าหน้าที่ข้างใน ถ้าใครมารับเองเขาจะให้รับได้แค่วันอังคารกับพฤหัส ปกติเฟิร์นจะเลือกไปขอวันอังคารค่ะ เพราะมันหมายความว่าวันพฤหัสก็ได้แล้ว (2 วันจริงๆ สถานทูตเยอรมนีทำงานเร็วมากกกกก) รอนานๆ มันจิขาดใจ ฮ่าๆ แต่ถ้าขอวันอังคารและให้ส่งไปรษณีย์ วันศุกร์ก็ถึงมือแล้วนะ รวดเร็วดี แล้วแต่สะดวกเลยอันนี้ :)
อ้อ วีธีเดินทางไปสถานทูตเยอรมนี ปกติเฟิร์นไปรถไฟฟ้า ลงสถานทีศาลาแดงแล้วต่อ MRT ไปสถานีนึงลงที่ลุมพินีนะคะ ออกทางออกที่โผล่มาแล้วจะเจอ Q-House (จำไม่ได้ว่าทางออกอะไร แฮ่ๆ) เดินตรงไปเรื่อยๆ เลยค่ะ สถานทูตอยู่ติดกับถนนใหญ่ ถ้ามีคนต่อแถวอยู่ล่ะก็ใช่เลย และต้องฝากโทรศัพท์มือถือนะคะ ปิดให้เรียบร้อยด้วย ถ้าใครมีเป้ใบใหญ่ๆ มาก็ต้องฝาก ขออย่างอื่นนำเข้าไปได้ค่ะ
ประมาณนี้นะคะสำหรับรีวิวการขอวีซ่า เฟิร์นเข้าใจว่าเฟิร์นยังได้เปรียบเรื่องนี้อยู่เพราะเคยไปอยู่มาก่อนและมีเอกสารจากทางนู้น แต่ก็หวังว่านี่จะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ คนเนอะ โดยเฉพาะฟรีแลนซ์ทั้งหลายที่จะขอวีซ่าไปเที่ยวทีไรก็ลำบากลำบนเพราะไม่มีงานประจำ อย่างที่บอกค่ะ ทำงานอะไรอยู่ยื่นไป! เขียนจดหมายอธิบายไป! ยื่นไปเยอะดีกว่าขาด!
ขออภัยถ้าหากมีข้อมูลอะไรผิดพลาดนะคะ เฟิร์นเล่าจากประสบการณ์ ตรงไหนผิดทักมาแก้ได้เลยยยย แล้วเจอกันค่ะ!
xx
Fern
Instagram : fernniz.k
Twitter : fernniz
Facebook Page : fernniz
Comments